>
ความปลอดภัยในการทำงาน

ความปลอดภัยในการทำงาน

 

ความหมายของความปลอดภัยในการทำงาน

             การเกิดอุบัติเหตุในการทำงานแต่ละครั้ง มิได้เกิดขึ้นจากโชคชะตาหรือเคราะห์กรรมของแต่ละบุคคล แต่เกิดขึ้นโดยมี “สาเหตุ” ที่ชี้ชัดลงไปได้ การเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานจะเกิดขึ้นได้โดยการแก้ไขป้องกัน “สาเหตุของอุบัติเหตุ” ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมก่อนที่จะได้ศึกษาถึงสาเหตุของอุบัติเหตุและการป้องกันต่อไป ควรที่จะได้ทราบคำกำจัดความต่างๆที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

             ภัย (Hazard) เป็นสภาพการณ์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อบุคคลหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือวัสดุ หรือกระทบกระเทือนต่อขีดความสามารถในการปฏิบัติการของบุคคล

             อันตราย (Danger) หมายถึงระดับความรุนแรงที่เป็นผลเนื่องมาจากภัย (Hazard)  อันตรายจากภัยอาจจะมีระดับสูงมาก หรือน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับมาตรการในการป้องกัน เช่น การทำงานบนที่สูง สภาพการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บถึงตายได้หากมีการพลัดตกลงมา ในกรณีนี้ถือได้ว่ามีอันตรายอยู่ระดับหนึ่ง หากแต่ระดับอันตรายจะลดน้อยลง ถ้าผู้ปฏิบัติงานใช้สายนิรภัย(Harness) ขณะทำงานเพราะโอกาสของการพลัดตกและก่อให้เกิดการบาดเจ็บลดน้อยลง

             ความปลอดภัย (Safety) หมายถึง การปรารถจากภัย ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดภัยทุกชนิดให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ความปลอดภัยจึงให้รวมถึงการปรารถจากอันตรายที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นด้วยอุบัติเหตุ (Accident) หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บ พิการหรือตาย และ/หรือทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ความหมายในเชิงวิศวกรรมความปลอดภัยนั้น “อุบัติเหตุ ยังมีความหมายครอบคลุมถึง   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนการผลิตปกติ ทำให้เกิดความล่าช้า หยุดชะงัก หรือเสียเวลา แม้จะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ ก็ตาม (วิฑูรย์ สิมะโชคดี และ วีรพงษ์ เฉลิมจิระรัตน์, 2543)

อุบัติเหตุ (Accident) หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น ไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าและไม่สามารถควบคุมได้ (เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ และชัยยะ พงษ์พานิช, 2533)

              อุบัติเหตุ(Accident) คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อการทำงาน โดยให้งานหยุดชะงัก เครื่องมือเครื่องจักรชำรุดเสียหาย ผลผลิตตกต่ำ ราคาต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประสบอุบัติเหตุอาจจะรอดชีวิตบาดเจ็บ หรือพิการ หรือเสียชีวิตได้ (ณรงค์ ณ เชียงใหม่, 2525)

              อุบัติเหตุ (Accident) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ไม่มีการวางแผนล่วงหน้าและควบคุมไม่ได้ เช่น การตกจากที่สูง การหกล้ม ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียต่อผู้ประสบอุบัติเหตุบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในขณะทำงาน เช่น การบาดเจ็บจากการกระแทก หรือบดของเครื่องจักร การถูกสิ่งของหล่นทับ ฯลฯ

              อุบัติเหตุกับการทำงานอุบัติเหตุและการทำงานมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกันเสมอ  กล่าวคือ  ในขณะที่เราทำงานนั้นจะมีอุบัติเหตุแอบแฝงอยู่ และเมื่อใดที่เราประมาท อุบัติเหตุก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นทันที ซึ่งในการเกิดอุบัติเหตุนั้นมักจะมีตัวการที่สำคัญอยู่ 3 ประการ  คือ1.1  ตัวบุคคล  คือ  ผู้ประกอบการงานในหน้าที่ต่าง ๆ และเป็นตัวสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ1.2   สิ่งแวดล้อม  คือ  ตัวองค์การหรือโรงงานที่บุคคลนั้นทำงานอยู่1.3  เครื่องมือ  เครื่องจักร  คือ  อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานภาพอุบัติเหตุกับ

              งานมีส่วนเกี่ยวข้องกันสาเหตุของอุบัติเหตุ (Causes of Accidents)H.W. Heinrich เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ศึกษาถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอย่างจริงจังในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในปี ค.ศ. 1920 ผลการศึกษาวิจัย สรุปได้ดังนี้

               สาเหตุของอุบัติเหตุ ที่สำคัญมี 3 ประการ ได้แก่

  1. สาเหตุที่เกิดจากคน (Human Cause) มีจำนวนสูงที่สุด คือ 88% ของการเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น การทำงานที่ไม่ถูกต้อง ความพลั้งเผลอ ความประมาท การมีนิสัยชอบเสี่ยงในการทำงาน เป็นต้น
  2. สาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของเครื่องจักร (Mechanical Failure) มีจำนวนเพียง 10% ของการเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น ส่วนที่เป็นอันตรายของเครื่องจักรที่ไม่มีเครื่องป้องกัน เครื่องจักร เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆชำรุดบกพร่อง รวมถึงการวางผังโรงงานไม่เหมาะสม สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ปลอดภัย เป็นต้น
  3. สาเหตุที่เกิดจากธรรมชาติ (Acts of God) มีจำนวนเพียง 2 % เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ นอกเหนือการควบคุมได้ เช่น พายุ น้ำท่วม ฟ้าผ่า เป็นต้นในปี ค.ศ. 1931 Herbert W. Heinrich ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Industrial Accident Prevention ซึ่งเป็นการปฏิวัติแนวคิดเดิมเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุหรือเสริมสร้างความปลอดภัยในโรงงานอย่างสิ้นเชิง

             สรุปสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ เป็น 2 ประการ ได้แก่

  1. การกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Acts) เป็นสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุคิดเป็นจำนวน85% ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด เช่น

                        1.1 การทำงานไม่ถูกวิธี หรือ ไม่ถูกขั้นตอน

                        1.2 การมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเช่นอุบัติเหตุเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม แก้ไขป้องกันไม่ได้

                        1.3 ความไม่เอาใจใส่ในการทำงาน

                        1.4 ความประมาท พลั้งเผลอ เหม่อลอย

                        1.5 การมีนิสัยชอบเสี่ยง

                        1.6 การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของความปลอดภัยในการทำงาน

                        1.7 การทำงานโดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

                        1.8 การแต่งการไม่เหมาะสม

                        1.9 การถอดเครื่องกำบังส่วนอันตรายของเครื่องจักรออกด้วยความรู้สึกรำคาญ ทำงานไม่สะดวก หรือถอดออกเพื่อซ่อมแซมแล้วไม่ใส่คืน

                        1.10 การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ไม่เหมาะกับงาน เช่น การใช้ขวดแก้วตอกตะปูแทนการใช้ค้อน

                        1.11 การหยอกล้อกันระหว่างทำงาน

                        1.12 การทำงานโดยที่ร่างกายและจิตใจไม่พร้อมหรือผิดปกติ เช่น ไม่สบาย เมาค้าง มีปัญหาครอบครัว ทะเลาะกับแฟน เป็นต้น

  1. สภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Condition) เป็นสาเหตุรอง คิดเป็นจำนวน15% เท่านั้น เช่น

                    2.1 ส่วนที่เป็นอันตราย(ส่วนที่เคลื่อนไหว) ของเครื่องจักร ไม่มีเครื่องกำบังหรืออุปกรณ์ป้องกันอันตราย

                    2.2 การวางผังโรงงานที่ไม่ถูกต้อง

                    2.3 ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยและสกปรกในการจัดเก็บวัสดุสิ่งของ

                    2.4 พื้นโรงงานขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ

                    2.5 สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่ถูกสุขอนามัย เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอเสียงดังเกินควร ความร้อนสูง ฝุ่นละออง ไอระเหยของสารเคมีที่เป็นพิษ เป็นต้น

                    2.6 เครื่องจักรกล เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ชำรุดบกพร่อง ขาดการซ่อมแซมหรือบำรุง รักษาอย่างเหมาะสม

                    2.7 ระบบไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า ชำรุดบกพร่อง เป็นต้น

                   ความสูญเสียจากอุบัติเหตุการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้ง ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย นอกจากจะเกิดการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต หรือแม้แต่ทรัพย์สินเสียหาย อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรที่เกิดความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงแล้ว ยังรวมถึงการสูญเสียเวลาในการผลิตที่ต้องหยุดและค่าใช้จ่ายอื่นๆ หรือแม้แต่

เสียภาพพจน์ของบริษัทความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้คือ

  1. ความสูญเสียทางตรง (Direct Loss)หมายถึง จำนวนเงินที่ต้องจ่ายไปอันเกี่ยวเนื่องกับผู้ได้รับบาดเจ็บโดยตรงจากการเกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นค่าเสียหายที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด ได้แก่

                     1.1 ค่ารักษาพยาบาล

                     1.2 ค่าทดแทนจากการได้รับบาดเจ็บ

                     1.3 ค่าทำขวัญ

                     1.4 ค่าทำศพ

                     1.5 ค่าประกันชีวิต

  1. ความสูญเสียทางอ้อม (Indirect Loss)หมายถึง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ซึ่งส่วนใหญ่จะคำนวณเป็นตัวเงินได้) นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทางตรงสำหรับการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้ง ได้แก่

                       2.1        การสูญเสียเวลาในการทำงานของ

                             2.1.1     คนงานหรือผู้บาดเจ็บ เพื่อรักษาพยาบาล

                             2.1.2    คนงานอื่นหรือเพื่อนร่วมงานที่ต้องหยุดชะงักชั่วคราว เนื่องจากช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยการปฐมพยาบาล หรือนำส่งโรงพยาบาล อยากรู้อยากเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ ความตื่นตกใจ

                             2.1.3    หัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชา เนื่องจากช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ สอบสวน หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ บันทึกและจัดทำรายงานการเกิดอุบัติเหตุ จัดหาคนงานอื่นและฝึกสอนให้เข้าทำงานแทนผู้บาดเจ็บ หาวิธีแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดซ้ำอีก

                   2.2        ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ได้รับความเสียหาย

                   2.3        วัตถุดิบหรือสินค้าที่ได้รับความเสียหายต้องทิ้ง ทำลายหรือขายเป็นเศษ

                   2.4        ผลผลิตลดลง เนื่องจากกระบวนการผลิตขัดข้อง ต้องหยุดชะงัก

                   2.5        ค่าสวัสดิการต่างๆของผู้บาดเจ็บ

                   2.6        ค่าจ้างแรงงานของผู้บาดเจ็บซึ่งโรงงานยังคงต้องจ่ายตามปกติ แม้ว่าผู้บาดเจ็บจะทำงานยังไม่ได้เต็มที่หรือต้องหยุดงาน

                   2.7        การสูญเสียโอกาสในการทำกำไร เพราะผลผลิตลดลงจากการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต และการเปลี่ยนแปลงความต้องการของตลาด

                   2.8        ค่าเช่า ค่าไฟฟ้า น้ำประปา และโสหุ้ยต่างๆที่โรงงานยังคงต้องจ่ายตามปกติ แม้ว่าโรงงานจะต้องหยุดหรือปิดกิจการหลายวันในกรณีเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

                   2.9        การเสียชื่อเสียงและภาพพจน์ของโรงงานนอกจากนี้ผู้บาดเจ็บจนถึงขั้นพิการหรือทุพพลภาพ จะกลายเป็นภาระสังคมซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย

                    ความสูญเสียทางอ้อมจึงมีค่ามหาศาลกว่าความสูญเสียทางตรงมาก ซึ่งปกติเรามักจะคิดไม่ถึง จึงมีผู้เปรียบเทียบว่า ความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายของการเกิดอุบัติเหตุเปรียบเสมือน “ภูเขาน้ำแข็ง” ส่วนที่โผล่พ้นน้ำให้มองเห็นมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำ ในทำนองเดียวกันค่าใช้จ่ายทางตรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะเป็นเพียงส่วนน้อยของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดซึ่งผู้บริหารโรงงานจะมองข้ามมิได้การเกิดอุบัติเหตุก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากทั้งต่อชีวิตของคนงานและทรัพย์สิน ทั้งที่คิดเป็นเงินค่าใช้จ่ายอย่างเห็นได้ชัดเจน และที่เป็นค่าใช้จ่ายแฝงในรูปต่างๆ การสร้างสภาพการทำงานที่ปลอดภัยในโรงงานจึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการบริหารงานในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการผลิตสินค้าแล้ว ยังทำให้ขวัญหรือกำลังใจของคนงานสูงขึ้น ผลผลิตและกำไรเพิ่มขึ้นด้วยในทางกลับกัน หากโรงงานใดมีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โรงงานนั้นย่อมต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ขวัญและกำลังใจของคนงานตกต่ำลง ในที่สุดผลผลิตและกำลังการผลิตก็จะลดลง นั่นคือการบริหารงานที่ล้มเหลวดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่ผู้บริหาร จะต้องให้ความสำคัญต่อการป้องกันมิให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น โดยการเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงาน และกำหนดเป็น “นโยบายของบริษัท” ที่ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร

การป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ

หลักการ 5 ส.  ได้แก่

สะสาง หมายถึงการแยกแยะงานดี– งานเสีย

สะดวก หมายถึงการจัดการให้เป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่

สะอาด หมายถึงการทำความสะอาดเครื่องมือ สถานที่ ทั้งก่อนและหลังการใช้งาน

สุขลักษณะ หมายถึง การที่จะต้องรักษาสุขอนามัยของตัวเอง เครื่องมือ และสถานที่

สร้างนิสัย หมายถึง การสร้างนิสัยที่ดีเพื่อสร้างความปลอดภัยในสถานที่

การป้องกันขณะเกิดอุบัติเหตุ

การรู้จักการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเพื่อป้องกันอวัยวะของร่างกาย ดังนี้

  • อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า ดวงตา
  • อุปกรณ์ลดเสียง ป้องกันหู
  • อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ
  • อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย แขนขา
  • อุปกรณ์ป้องกันมือ
  • อุปกรณ์ป้องกันเท้า

ป้องกันหลังการเกิดอุบัติเหตุ

  • การอพยพ หลังการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งควรมีการวางแผนการอพยพเอาไว้ก่อน หรือควรรู้จักวิธีการขนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกวิธี
  • การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อลดอันตรายให้น้อยลง
  • การสำรวจความเสียหายภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุ
  • นอกจากนี้ สิ่งที่เราควรจะรู้ก็คือ ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน อันประกอบไปด้วย
  • เครื่องแต่งกาย และแบบฟอร์มที่เหมาะสมของผู้ปฏิบัติงาน โดยจะมีการตรวจสอบว่ามีความถูกต้องเหมาะสมเพียงใด
  • อาคารโรงงาน พิจารณาในด้านวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารมีความทนไฟหรือการผุกร่อนและมีอายุงานเท่าใด เป็นต้น
  • เครื่องมือเครื่องจักรกล มีการป้องกันอันตรายไว้เพียงใด
  • การทำความสะอาดให้เรียบร้อย รวมถึงตรวจสอบสภาพความพร้อมอีกด้วย
  • แสงสว่างภายในโรงงาน ที่จำเป็นจะต้องพิจารณาในด้านตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมของระบบโครมไฟฟ้า
  • การระบายอากาศ โดยการพิจารณาการหมุนเวียนของอากาศที่เข้าออกจากบริเวณทำงาน รวมทั้งคุณภาพของอากาศด้วย
  • ระบบการจัดเก็บและการดูแลควบคุมวัสดุ ซึ่งจะพิจารณาว่ามีแยกประเภทของวัสดุออกตามประเภทหรือไม่
  • ระบบฉุกเฉิน อาทิ การปฐมพยาบาล การดับเพลิง ทางหนีไฟ ทางออกฉุกเฉิน เครื่องช่วยชีวิต เป็นต้น
  • ดังนั้น ความปลอดภัยในการทำงาน จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราควรจะตระหนักเอาไว้อย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงชีวิต รวมไปถึงสิ่งของมากมายที่อยู่ในสถานที่แห่งนั้น ซึ่งจะช่วยทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยลง โดยจะสามารถแบ่งความปลอดภัยในการทำงานได้เป็น 3 สถานการณ์ โดยเริ่มจาก ก่อน ระหว่าง และหลังการเกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งทั้งสามสถานการณ์นี้ ล้วนแล้วแต่มีวิธีการที่จะช่วยหยุดการเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้ทั้งนั้น และที่ขาดไม่ได้ก็คืออุปกรณ์ในการป้องกันหรือช่วยชีวิต โดยในอุปกรณ์ช่วยชีวิตจะสามารถช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบในยามที่เกิดอุบัติเหตุนั้นได้ทันท่วงที หรือจะเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่จะช่วยทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย แม้ว่าเราจะต้องทำงานอยู่ในที่สูง หรือมีระดับความเสี่ยงอย่างมากเพียงใดก็ตาม ดังนั้นแล้ว ความปลอดภัยในการทำงาน จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการประกอบอาชีพทุก ๆ อาชีพนั่นเอง